วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

นิทานสำหรับเด็กปฐมวัย





นิทานสำหรับเด็กปฐมวัย

             นิทานและเรื่องเล่า ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญ ที่ “คนไทย” ในอดีตใช้เป็นกลไกในการพัฒนาสติปัญญา สุขภาพ กิริยามารยาทและคุณธรรมจริยธรรมในเด็กได้อย่างแยบยลและได้ผล ควรที่คนไทยสมัยใหม่จะหันมาทบทวน และใช้เป็นกระบวนการในการอบรมบ่มเพาะเด็กในวันนี้ เพราะเป็นยุคสมัยที่ผู้ใหญ่ให้อิสระแก่เด็กในการใช้ชีวิตในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับตนเอง โดยที่มีผู้ใหญ่ดูแลเด็กห่างๆ ควบคุมการกินอยู่ด้วยการสั่ง มีการชี้แจงเหตุผลน้อย ไม่มีเครือญาติที่พรั่งพร้อมล้อมชีวิตที่จะใกล้ชิดเด็ก พ่อแม่ให้วัตถุทดแทนความรัก ความอบอุ่นจนกระทั่ง หลงลืม ละทิ้งวัฒนธรรมและหลักศีลธรรมอันดีงามอันเป็นรากฐานทางจิตใจของคนไทยในอดีต


  • สิ่งที่เด็กจะได้รับจากการฟังหรืออ่านนิทาน
  • 1.แรงบันดาลใจ และเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตที่ดีสำหรับเด็ก
  • 2.แบบอย่างที่ดี ที่จะเป็นแรงกระตุ้นเร้าให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงได้ด้วยเพราะในสังคมไทยหาแบบอย่างที่ดีได้ยาก
  • 3.ความงดงามที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าในชีวิตยังมีความดีงามหลงเหลืออยู่
  • 4.การเรียนรู้ที่สนุกสนานอย่างไม่สิ้นสุดและเป็นการเรียนรู้สู่ความเป็นจริง เพราะนิทานคือ ส่วนหนึ่งของความจริง
  • 5.สิ่งเชื่อมโยงความรู้สึกกับบางสิ่งบางอย่างที่กว้างไกล จับต้องไม่ได้และเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจแต่เด็กๆ สัมผัสถึงความดีงามหรือความพิเศษของสิ่งนั้นได้จากความรู้สึกที่สัมผัสถึง
  • 6.ช่องทางที่ดีขึ้นของชีวิตด้วยเด็กได้ค้นพบ “เพื่อน” ที่เข้าอกเข้าใจกัน
  • 7.ช่องทางที่จะได้ปลดปล่อยอารมณ์ผ่าน “สะพานแห่งจินตนาการ” จนเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์อันเป็นจุดกำเนิดพลังแห่งชีวิตอย่างมหาศาล
  • 8.ปัจจัยสำคัญที่สามารถเปลี่ยนอารมณ์จากเด็กที่ตกอยู่ในภาวะทุกข์ยากลำบาก ให้เป็นอารมณ์สุนทรีจนสร้างความจรรโลงใจขึ้นมาได้
  • 9.สิ่งที่เด็กชอบและต้องการ แม้จะตอบไม่ได้ว่าอ่านนิทานเพื่ออะไร
ช่วยอายุกับนิทานที่เหมาะสม

เด็กช่วงแรกเกิด - อายุ 1 ขวบ 
            เป็นช่วงที่กำลังเข้าสู่พัฒนาการด้านการมองเห็น เด็กเล็กๆ จะชอบมองอะไรใกล้ๆ แล้วใช้มือสัมผัส เด็กจะเริ่มจดจำเสียงของแม่ นิทานที่คุณพ่อคุณแม่เตรียมให้ ควรเป็นหนังสือนิทานที่ไม่ต้องมีคำบรรยายมาก เป็นพวกหนังสือภาพ ขอให้มีรูปภาพที่มีขนาดใหญ่หน่อย มีสีสันสดใส วัสดุที่ใช้ควรเป็นผ้า หรือเป็นพลาสติก เป็นหนังสือลอยน้ำ ให้เด็กได้ดู จับ ขยำ ดึง กัดได้โดยไม่เป็นอันตราย อาจเป็นแบบมีเสียงกร๊อบแกร๊บเพื่อเรียกความสนใจของเด็ก การอ่านนิทานให้ลูกฟังช่วงนี้อาจเป็นการทำแบบง่ายๆ โดยให้เด็กได้เปิดดูเองในขณะอาบน้ำ หรือจับให้เด็กนั่งบนตักแล้วเปิดให้เด็กดูรูป อ่านให้เด็กฟังช้าๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะไม่เข้าใจ เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้และซึมซับทักษะการฟัง โทนเสียง เด็กจะพยายามใช้สายตาโฟกัสสิ่งที่เห็น แม้จะยังไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ก็จะพยายามแยกแยะ การอ่านนิทานให้เด็กในวัยนี้ ควรใช้เวลาที่ 5 นาทีก่อน

ตัวอย่างหนังสือผ้าสำหรับการเรียนรู้

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=vandasung&date=28-02-2008&group=3&gblog=2
http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2008/10/N7127413/N7127413.html

หนังสือภาพ สำหรับเด็ก
http://topicstock.pantip.com/family/topicstock/2011/08/N10949805/N10949805.html

เด็กช่วง 1-2 ขวบ
            เด็กช่วงนี้เริ่มมีพัฒนาการทางกายภาพอย่างรวดเร็ว นั่ง คลาน ยืน เดิน รวมถึงประสาททางตา หู ปาก เด็กวัยนี้จะเริ่มคลั่งไคล้นิทาน และเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟัง เริ่มเรียนรู้การอ่าน การฟัง คุณพ่อคุณแม่สามารถหานิทานเสริมสร้างพัฒนาการในทุกด้าน เด็กมักจะสนใจในสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว ควรหานิทานที่เกี่ยวกับครอบครัว พ่อ แม่ ลูก หรือการทำกิจวัตรประจำวัน เช่นกินข้าว อาบน้ำ สระผม แปรงฟัน นิทานสามารถช่วยให้เด็กทำกิจกรรมได้อย่างไม่น่าเบื่อด้วย เด็กจะชอบดูสมุดภาพ ควรหาภาพสัตว์ สิ่งของ ที่มีความหลากหลาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ หรือหากจะเสริมภาษาอังกฤษให้ลูก ก็สามารถหาหนังสือภาษาอังกฤษแบบง่ายๆ เปิดอ่านให้ฟังบ่อยๆ

            นิทานสำหรับเด็กวัยนี้ควรเป็นหนังสือที่เน้นสีสันสดใส มีเนื้อเรื่องง่ายๆ ควรเป็นเนื้อเรื่องสั้นๆ ใช้คำพูดน้อย อ่านง่าย อาจเป็นกลอน หรือมีทำนองที่คล้องจอง เพื่อให้เด็กจดจำง่าย อ่านซ้ำๆ เพื่อให้เด็กสนุกในการจดจำด้วย เช่น นิทานกุ๋งกิ๋ง ชุดส่งเสริมสุขนิสัย ชุดนี้มีเรื่อง กุ๋งกิ๋งปวดฟัน กุ๋งกิ๋งท้องผูก กุ๋งกิ๋งหัวเหม็น กุ๋งกิ๋งตัวมอม

เด็กช่วง 2-4 ขวบ
            เป็นช่วงที่เด็กรู้จักเรียนรู้ เข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น ช่างจดจำ เลียนแบบ แยกความแตกต่างของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้มากขึ้น รู้จักสี ขนาด รูปทรง ตัวอักษร ตัวเลข รู้จักวิเคราะห์ สงสัย ตั้งคำถาม สรุปสิ่งที่ได้เห็นได้ยิน และจินตนาการเรื่องราวได้เอง คุณพ่อคุณแม่ควรหานิทานที่มีความหลากหลาย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกด้านไปพร้อมๆ กัน อย่าเพิ่งเน้นให้เด็กเรียนรู้ด้านภาษา หรือเร่งให้เด็กอ่านเขียนมากจนเกินไป ควรส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรม สิ่งที่ควร และไม่ควรทำ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เด็กรับรู้ แยกแยะ และเข้าใจบทบาทของการแสดงออกทางพฤติกรรมของตัวเอง

ตัวอย่างสำหรับนิทานที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านนิสัย
            ชุดนิทานอีสป หรือนิทานพื้นบ้าน ที่มักจะแฝงคติสอนใจไว้ให้คิด เมื่ออ่านจบจะต้องมีคำยอดฮิตติดปากที่ว่า "เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า......" เพื่อสรุปให้เห็นผลของการมีนิสัยไม่ดี หรือผลของการทำดี ตัวอย่างนิทานอีสปเช่น เด็กเลี้ยงแกะ เทพารักษ์กับคนตัดไม้ เต่ากับกระต่าย ราชสีห์กับหนู และอีกหลายร้อยเรื่อง นิทานอีสปถือเป็นนิทานสากล ที่ทันสมัยอยู่เสมอ หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนอยากฝึกภาษาอังกฤษให้กับลูกตั้งแต่เนิ่นๆ จะลองเอานิทานอีสปชุดภาษาอังกฤษมาอ่านให้ลูกฟังด้วยก็ได้
- นิทานอีสป http://นิทานอีสป.net/


           นิทานไดโนน้อยพัฒนานิสัย นิทานชุดนี้มีเรื่อง โต๋เต๋ขอโทษ เปิ๊บป๊าบไม่มีระเบียบ นิ้งหน่องขี้หวง โป๊งเหน่งเกเร แจ๋วแหววอวดเก่ง ก๊อบแก๊บมอมแมม นิทานชุดไดโนน้อย เป็นเรื่องราวของไดโนเสาร์ตัวน้อยๆ ที่มีนิสัยไม่ดีในแต่ละอย่าง แต่ในที่สุดก็สามารถปรับเปลี่ยนนิสัยได้ นิทานชุดนี้จะเป็นตัวช่วยสำหรับคุณพ่อคุณแม่สร้างนิสัยที่ดีให้กับลูก ตัวละครที่แสดงนิสัยไม่ดีจะได้รับบทเรียนจากพฤติกรรมนั้นๆ เมื่อคุณพ่อคุณแม่อ่านจบ ก็สามารถสอนลูกต่อได้ว่าสิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ

           เด็กในช่วง 2-4 ขวบนี้ ยังถือเป็นวัยที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวที่สุด เพราะเด็กจะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง เริ่มดื้อ ซน มีพฤติกรรมต่อต้านพ่อแม่ แสดงอารมณ์โดยไม่มีเหตุผล คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมนิทานที่สอนเกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสมไว้ด้วย เพื่อให้เด็กเข้าใจจิตใจของผู้อื่น เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจ มองโลกในแง่ดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่


ตัวอย่างนิทานส่งเสริมการพัฒนาการทางอารมณ์ (EQ)
            นิทานชุด ไดโนน้อยพัฒนา EQ เรื่อง จี๊ดจ๊าดขี้อิจฉา บิ๊กซ่าขี้โมโห ติ๊ดตี่ขี้แย เป๋อเหลอขี้กลัว หนุงหนิงขี้อาย ปุ๊บปั๊บขี้งอน นิทานชุดนี้จะทำให้เด็กเข้าใจอารมณ์ต่างๆ ของตัวเอง ที่มีลักษณะคล้ายกับตัวละครในนิทาน เมื่อคุณพ่อคุณแม่เสริมความเข้าใจให้ ก็จะทำให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น


เด็กช่วง 4-6 ขวบ
            เป็นวัยที่เริ่มแยกแยะสิ่งที่ชอบ และไม่ชอบ คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกได้เลือกนิทานที่ชอบ ควรเป็นนิทานที่มีทั้งภาพ และเนื้อเรื่องสอดคล้องกัน โดยเนื้อหาอาจจะยาวขี้นบ้าง เพื่อให้เด็กได้สร้างจินตนาการเข้าไปอยู่ในเรื่องราว บางครั้งเด็กอาจต้องการอ่านนิทานเรื่องเดียวซ้ำไปซ้ำมา โดยไม่รู้สึกเบื่อ คุณพ่อคุณแม่ควรมีความอดทนอ่านให้ลูกฟัง เด็กจะจดจำ และใช้จินตนาการเต็มที่กับนิทานเรื่องนั้นๆ ถือเป็นช่วงที่เด็กมีความสุขที่ได้รับฟังสิ่งที่ชอบ และเข้าไปสู่โลกนิทานของตัวเอง เด็กในวัยนี้จะเริ่มเล่านิทานที่ตัวเองได้ยินได้ฟังมาได้ คุณพ่อคุณแม่ควรแนะนำหนังสือที่ส่งเสริมด้านคุณธรรม ความอดทน ความพากเพียรพยายาม เรื่องของการแพ้ชนะ คุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างน้อยวันละ 5-10 นาที หรืออย่างน้อยก็เป็นนิทานก่อนนอนที่ทำเป็นประจำ




อ้างอิง











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น